รู้จักตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis) คือ ภาวะที่ตับอ่อนเกิดการอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน การอักเสบอย่างรุนแรงของตับอ่อนซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการย่อยอาหาร และเป็นโรคที่เป็นผลมาจากการให้อาหารสุนัข ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารสุนัขที่มีไขมันสูง หรือสารอาหารไม่สมดุล โดยเป็นการอักเสบที่บริเวณเซลล์ของตับอ่อน เกิดขึ้นจากการที่น้ำย่อยในตับอ่อนไหลผ่านท่อของตับอ่อนไม่ได้ ทำให้น้ำย่อยย่อยเนื้อเยื่อตับอ่อนแทนจึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยจะเป็นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- อาเจียนเฉียบพลัน (suddenly vomit)
- ตามด้วยภาวะร่างกายขาดน้ำ (dehydrated)
- ซูบผอม (lethargic)
- ท้องเสีย (diarrhea)
- มีไข้ (fever)
อาการของโรคอาจรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการอักเสบของตับอ่อน ทำให้มีการหลั่งเอนไซม์จากตับอ่อนเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งส่งผลให้ระบบควบคุมการอักเสบของร่างกายล้มเหลว (systemic inflammatory response syndrome) ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว (multiple organ dysfunction) ตามมาได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ
- การบาดเจ็บและการกระแทก
- ความดันโลหิตต่ำ (hypotension)
- ปริมาณไขมันในเลือดสูง (hyperlipidaemia)
- ปริมาณแคลเซียมในเลือดสูง (hypercalcemia)
- โรคอ้วนรวมทั้งความผิดปกติของการเผาผลาญไขมัน
- มีประวัติการผ่าตัดช่องท้องมาก่อน มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคนี้
- สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงได้แก่ Schnauzers และ Yorkshire terriers
- โภชนาการ การเลี้ยงสุนัขด้วยอาหารไขมันสูงจะทำให้มีอุบัติการของโรคสูงขึ้น
- ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟา หรือ chemotherapy อย่างเช่น azathioprine
- ช่วงอายุก็มีความสำคัญจะพบว่าสุนัขวัยกลางคน (middle age) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ความรุนแรงของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- ตับอ่อนอักเสบเล็กน้อย (Mild Acute Pancreatitis) สำหรับเคสที่แสดงอาการรุนแรงน้อย การพยากรณ์โรค (Prognosis) จะดี เนื่องจากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ คุณหมอจะให้สารน้ำใต้ผิวหนังและฉีดยาให้ จากนั้นอาจพิจารณารักษาแบบไป-กลับ (สัตว์ป่วยนอก) โดยให้เจ้าของดูแลน้องหมาได้ด้วยตัวเองที่บ้าน แต่ต้องพาน้องหมามาพบคุณหมอที่ทำการนัดหมายไว้
- ตับอ่อนอักเสบรุนแรงปานกลาง (Moderately Severe Acute Pancreatitis) คุณหมออาจพิจารณารับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ เพราะสุนัขป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ง่าย การมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complication) และภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบ (Systemic Complication) ที่มีภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลว (Organ Failure) ที่มีอาการดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง
- ตับอ่อนอักเสบรุนแรงมาก (Severe Acute Pancreatitis) คุณหมออาจพิจารณารับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ เพราะสุนัขป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ง่าย บางรายอาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไตวายเฉียบพลัน เกิดภาวะ Disseminated Intravascular Coagulation (DIC) การทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายล้มเหลว และเกิดภาวะช็อก จนอาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ ซึ่งพยากรณ์โรคของสุนัขที่ป่วยระดับนี้ จะอยู่ในระดับปานกลาง (Fair) ถึงแย่มาก (Grave) จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสัตวแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การรักษาแบบประคองอาการค่ะ
การตรวจวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- การซักประวัติ ถึงปัจจัยโน้มนำที่ทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ
- การตรวจด้วยรังสีวินิจจัย จะพบลักษณะการขยายออกของขอบลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) ตามแนวของกระเพาะอาหารแสดงถึงการบวม (swell) ของตับอ่อนแต่วิธีนี้มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ
- การตรวจด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ วิธีนี้มีความแม่นยำมากกว่าการตรวจด้วยรังสีและสามารถตรวจสอบอวัยวะอื่นไปได้พร้อมกัน อีกทั้งใช้ช่วยในการเก็บตัวอย่างของเหลวจากช่องท้องได้ด้วย จึงเป็นวิธีที่ได้ผลรวดเร็วและแม่นยำพอสมควร
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
- การตรวจเลือด แต่ผลอาจไม่แน่นอนนี้ เนื่องจากระดับ amylase และ lipase
ซึ่งเป็นเอนไซม์ของ ตับอ่อนนั้น อาจสูงขึ้นเนื่องจากสาเหตุอื่นได้ด้วย - การตรวจวิธี PLI ( pancreatic lipase immunoreactivity)
เป็นวิธีที่มีความจำเพาะต่อตับอ่อนมากขึ้นแต่ ต้องใช้ห้องแลบที่ จำเพาะ จึงไม่เป็นที่นิยม - การตรวจวิธี SPECcPL ( Specific canine pancreatic lipase )
เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันนี้เนื่องจากมีความไว (sensitivity) และมีความจำเพาะ (specific) ต่อโรคสูง นอกจากนี้ยังให้ผลได้รวดเร็วด้วย - การตรวจวัดเอนไซม์ของตับอ่อนเชิงปริมาณ (canine pancreatic lipase = V-check CPL)
การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- พักการทำงานของตับอ่อนโดยการงดน้ำงดอาหารในช่วงแรกของการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ เนื่องจากการที่มีอาหารผ่านสู่ลำไส้เป็นการกระตุ้นการทำงานของตับอ่อน
- การให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ มีความสำคัญมากเนื่องจากช่วยให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงตับอ่อนดีขึ้นเป็นการป้องกันการขาดเลือดไปเลี้ยงตับอ่อน และเป็นการป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำของร่างกายซึ่งสารน้ำที่ใช้ควรเป็นชนิดที่มีโปแตสเซียมสูง เนื่องจากในภาวะตับอ่อนอักเสบมักเกิดภาวะขาดโปแตสเซียมร่วมด้วย
- สัตว์ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤติควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และอาจต้องตรวจเลือดหลายครั้งภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อปรับสมดุลกรดด่าง และอิเลกโตรไลท์ในร่างกาย
- การให้ยาลดปวดชนิดฉีด เนื่องจากสัตว์ป่วยจะมีการปวดมาก การให้ยาลดปวดนี้จะช่วยลดการอักเสบ และทำให้มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตของสัตว์ป่วยด้วย
- การให้ยาปฏิชีวนะ ควบคุมการอาเจียนมีความจำเป็นในกรณีที่ตรวจพบการติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) เนื่องจากยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจมีผลต่อการอักเสบของตับอ่อน
- เมื่อเริ่มให้อาหาร ควรให้อาหารไขมันต่ำ เช่น อาหารรักษาโรคที่มีกากใยสูง เช่น อาหารสูตร w/d ของ Hill's science diet หรือ intestinal low fat ของ royal canin เพื่อลดการกระตุ้นการทำงานของตับอ่อน
การป้องกันโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- ทำได้โดยการดูแลตับอ่อนให้แข็งแรง การป้องกันในระยะยาว
- ควรให้สุนัขที่อ้วนลดน้ำหนัก จำกัดปริมาณพลังงานในอาหารที่กินเข้าไป
- ชวนสุนัขออกกำลังกายเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง (ไขมันไม่ควรเกิน 12-15 % dry matter fat) เช่น อาหารจำพวกของทอดต่างๆ และอาหารที่ผัดด้วยน้ำมัน
- สุนัขที่กินอาหารไขมันต่ำเป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้ขาดวิตามินสำคัญบางอย่างได้ เช่น วิตามินเอ วิตามินดี ฯลฯ เราสามารถช่วยชดเชยได้ด้วยการเสริมน้ำมันตับปลา (Cod Liver Oil) ให้กับสุนัขตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
- สุนัขพันธุ์เสี่ยงหรือสุนัขที่มีระดับไขมันในกระแสเลือดสูง (hyperlipidemia) โดยเฉพาะในส่วนของไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) การเสริมน้ำมันปลา (Fish oil) ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ จะสามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้ค่ะ
เรียบเรียงโดย สพ.ญ. บุษยมาศ เจียมวิจิตรกร
(แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ, แผนกอายุรกรรม)